อมรินทรเทวราช เทวดาประจำวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร เป็นจุดสักการะจุดแรกก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์สักทอง อยู่บริเวณหน้าทางเข้าด้านนอก
จุดสักการะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พร้อมพระคาถาสวดบูชา
ภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง(ชั้นล่าง)
โต๊ะประชาสัมพันธ์ สำหรับบริการแขกผู้เข้าชมและจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์สักทอง พร้อมทั้งมีจุดบริการน้ำดื่ม(ฟรี) บริเวณหน้าทางเข้า
เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง จุดแรกในการเข้าชม คือบริเวณโถงกลางชั้นแรก เป็นจุดอธิบายประวัติของบ้านสักทองและมีตัวอย่างโครงสร้างภายในเนื้อไม้และประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเทียบเคียงกับวงปีไม้สักทอง
เขียงไม้สักทอง
เขียงไม้สักทอง เป็นจุดแรกเมื่อผู้เข้าชมมาถึง ซึ่งเป็นจุดอธิบายประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สักทองและจัดแสดงวงปีของไม้สักทอง
วงปีไม้สักกับการกำหนดอายุ
ต้นสัก มีชื่อภาษาอังกฤษทางการค้าเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า ทีค (TEAK) ซึ่งมาจากชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tectona Grandis L.f. (เทคโตนาแกรนดิส) อยู่ในวงศ์ Labiatae ซึ่งค้นพบและตั้งชื่อโดย Linnaeus F (ลิเนียส เอฟ) นักพฤกษศาสตร์ชื่อดังของโลก Tectona grandis Linn.f. แบ่งเป็น ๕ ชนิดได้แก่ สักทอง สักหิน สักหยวก สักไข่ และสักขี้ควาย ตามลักษณะของเนื้อไม้ ไม้สักทองจะให้คุณภาพของเนื้อไม้ดีที่สุดจนได้รับฉายานามในวงการป่าไม้ว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้” หรือ “Queen of Timbers”
ต้นสัก มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติเฉพาะในเขตเอเชียใต้ (ประเทศอินเดีย) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย พม่า ลาว) ส่วนสักที่ขึ้นในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้น คาดว่าได้มีการนำพันธุ์จากประเทศอินเดียมาปลูก ธรรมชาติของต้นสักนั้นสามารถพบขึ้นทั่วไปในบริเวณป่าผลัดใบของเขตสภาพภูมิอากาศแบบมรสุม (Monsoon)
การศึกษาอายุของสิ่งสร้างจากวงปีไม้
ตำแหน่งที่ทำการเก็บตัวอย่าง (ระบายสีฟ้า)
การศึกษาวงปีไม้
ไม้สัก เป็นไม้ไม่กี่ชนิดในเขตร้อนชื้นที่สร้างวงปีและเห็นวงปีได้อย่างชัดเจน วงปีของไม้สักสะท้อนสภาพแวดล้อมในขณะที่ไม้สักนั้นยังมีชีวิตได้อย่างดี ในการศึกษาวงปีไม้ เพื่อต้องการหาค่าอายุของไม้ ไม้ถูกตัดมาเพื่อใช้ในการปลูกสร้างตั้งแต่เมื่อใด มาจากแหล่งไหน วงปีของไม้แต่ละวงปีของไม้แต่ละวงสะท้อนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่ต้นไม้เหล่านั้นเจริญเติบโต ดังนั้น งานด้านวงปีส่วนใหญ่จึงเริ่มจากไม้ที่มีชีวิต และใช้ประโยชน์จากไม้ที่มีชีวิตที่ทราบค่าอายุ เป็นต้นแบบหาค่าอายุของไม้ชนิดเดียวกันจากแหล่งก่อสร้างอื่น ๆ
ไม้จากแพร่สู่บ้านแก้วและพิพิธภัณฑ์สักทอง
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านวงปีไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษากำหนดค่าอายุวงปีไม้สักของอาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงปั้นหยาประยุกต์ ๒ ชั้น กว้าง ๑๖.๗๕ เมตร ยาว ๓๐.๑๕ เมตร เป็นเนื้อที่ชั้นละประมาณ ๕๐๕ ตารางเมตร รวม ๒ ชั้น มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๐๑๐ ตารางเมตร โครงสร้างเป็นเสาไม้สักทองจำนวน ๕๙ ต้น จากตัวอย่างเสาไม้สักจำนวน ๑๕ ตัวอย่าง คณะผู้ศึกษาได้ใช้เทคนิคการนับจำนวนและวัดความกว้างวงปี ร่วมกับการวิเคราะห์ค่าอายุโดยใช้วิเคราะห์สัดส่วนของคาร์บอนไอโซโทป ๑๔ (C๑๔) ได้ค่าอายุประมาณ ๔๑๐ ๑๗๐ BP (BP:Before Present=๑๙๕๐)% Modern carbon (๙๕.๐๘.๒.๐๑)
อนุมานได้ว่าไม้สักที่ใช้ในการสร้างพิพิธภัณฑ์หลังนี้
มีอายุประมาณ ๔๗๙ ปี
จาการนับจำนวนวงปีพบว่า ตัวอย่างที่มีจำนวนวงมากที่สุดคือ ๑๗๙ วง
คำขอบคุณ
ขอขอบคุณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ในการวิเคราะห์ค่าคาร์บอน-๑๔
จัดทำโดย
รศ.ดร.นาฏสุดา ภูมิจำนงค์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาลัยมหิดล
นางสาววิริญา ปั้นทับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาลัยมหิดล
ดร.อุทัย เจริญวงศ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย
บอร์ดจัดแสดงพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สักทอง
บอร์ดจัดแสดงประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สักทอง
เมื่อเข้ามาที่ห้องด้านซ้าย ตรงกลางของห้องจะเป็นจุดสักการะพระสยามเทวาธิราช โดยทางพิพิธภัณฑ์สักทองจะมีดอกไม้ (ดอกบัว,ดอกดาวเรือง)จัดในพานไว้บริการ เพื่อนำไปสักการะพระสยามเทวาธิราช โดยมีกล่องรับบริจาคตามศรัทธา
เทวรูป (จำลอง) พระสยามเทวาธิราช
ประวัติความเป็นมาของพระสยามเทวาธิราช เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยมีเหตุการณ์ร้ายเกือบต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่ก็มีเหตุให้รอดพ้นอยู่เสมอ น่าจะมีเทพยดาคอยพิทักษ์รักษาอยู่ สมควรสร้างรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ นายช่างเอก ทรงปั้นรูปเทพยดาที่มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อยืน หล่อด้วยทองคำทั้งพระองค์ งดงามได้สัดส่วนสูงประมาณ ๘ นิ้ว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบพระดรรชนีเสมอพระอุระ
มีคำจารึกที่ผนังเบื้องหลังเป็นอักษรจีนแปลว่า เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามว่า “พระสยามเทวาธิราช” ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
พระสยามเทวาธิราช เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปหากจะกล่าวสาบานในศาล จะต้องสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง 3 อย่าง คือ ศาลหลักเมือง , พระแก้วมรกต และพระสยามเทวาธิราช
ภายในห้องสักการะพระสยามเทวาธิราช ยังประกอบไปด้วยบอร์ดจัดแสดงผลงานด้านต่าง ๆ ของศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นตู้ไม้สัก สามารถเลื่อนชมภาพด้านในได้ ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายชั้น ทำให้สามารถรองรับรูปถ่ายที่มีจำนวนมากและประหยัดเนื้อที่ในการใช้สอย ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
จุดจำหน่ายของที่ระลึก อยู่บริเวณห้องด้านซ้าย (ห้องเดียวกับพระสยามเทวาธิราช) ซึ่งได้วางจำหน่ายของที่ระลึกอาทิเช่น เสื้อโปโลพิพิธภัณฑ์สักทอง (มีหลากหลายสีสัน), เสื้อยืด-กระเปง (ลายไทย), ย่ามพิพิธภัณฑ์สักทอง ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ,หนังสือ-ซีดี (พิพิธภัณฑ์สักทอง) เป็นต้น