ภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง(ชั้นสอง)
เมื่อขึ้นมาที่ชั้นสอง จะพบจุดสักการะพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประดิษฐานอยู่บริเวณโถงกลางของชั้นสอง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เนื้อสำริด สูง ๒๙ นิ้ว มีพระโอษฐ์เป็นทองคำ ซึ่งเดิมทีประดิษฐานอยู่ที่บ้านศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ต่อมาภายหลังเมื่อได้สร้างพิพิธภัณฑ์สักทองแห่งนี้แล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้มีโอกาสสักการะบูชา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร พระราชทานพระพุทธรูปให้แก่พิพิธภัณฑ์สักทอง จำนวนทั้งสิ้น ๖ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรจำนวน ๓ องค์ และพระพุทธรูปปางอื่น ๆ อีกจำนวน ๓ องค์ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพระพุทธรูปพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต บรมครูทางด้านยารักษาโรครวมอยู่ด้วย
พระกริ่งวัดเทวราช (พระกริ่งช่อ)
จัดสร้างในโอกาสที่ พระเทพคุณาภรณ์ เจริญอายุครบ ๕๐ ปี (๕ เมษายน ๒๕๐๖ – ๕ เมษายน ๒๕๕๖) ณ พระอุโบสถ วัดเทวราชกุญชร วรวิหาร
นิติธรรม ยุติธรรม สันติธรรม
ข้าพเจ้ามีความเชื่อในหลัก “นิติธรรม” (THE RULE OF LAW) โดยถือว่า “กฎหมาย” เป็นกฎเกณฑ์ที่สำคัญของบ้านเมือง ดังนั้น ประเทศจะต้องมีกฎหมายที่เป็น “ธรรม” และผู้ใช้กฎหมายต้องใช้ด้วยความ “ยุติธรรม” ด้วยความเสมอภาค ปราศจาก “อคติ” สังคมและประเทศชาติจึงจะมี “สันติสุข” (สันติธรรม)
ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓
ห้องด้านซ้าย (ชั้นสอง) มีหุ่นขี้ผึ้ง (ไฟเบอร์กลาส) สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขนาดเท่าองค์จริง จำนวน ๑๙ พระองค์
ห้องด้านขวา (ชั้นสอง) ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นอัฐิธาตุส่วนพระอุระขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีหุ่นขี้ผึ้ง (ไฟเบอร์กลาส) พระอริยสงฆ์ จำนวน ๑๙ รูป