ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานโครงการบูรณะพระอาราม และท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน รองประธานโครงการบูรณะพระอาราม ร่วมกับ พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร พร้อมด้วยคณะสงฆ์และผู้มีจิตศรัทธา ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ ๒ ชั้น กว้าง ๑๖.๗๕ เมตร ยาว ๓๐.๑๕ เมตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ เป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ปี พ.ศ.๒๕๕๐ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๙ และเสร็จเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๑ รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งร้อยสิบล้านบาทถ้วน)
นโยบายและวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สักทอง
๑. เพื่อการอนุรักษ์
บ้านไม้สักทอง ซึ่งเป็นมรดกของชาติ และสร้างจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของไม้สัก ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยและปลุกสำนึกการอนุรักษ์ป่าไม้ของชาติ
๒. เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้
การใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์หาอายุของไม้สักทองขนาดใหญ่ ๒ คนโอบ จำนวน ๕๙ ต้น ของพิพิธภัณฑ์สักทอง ซึ่งมีอายุมากกว่า ๔๗๙ ปี และการศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์โดยเปรียบเทียบจากวงปีของเสาไม้สักทอง
๓. เพื่อการศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนา
โดยการศึกษาพระประวัติและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๑๙ พระองค์ ในรูปแบบของหุ่นขี้ผึ้ง (ไฟเบอร์กลาส) และประวัติของพระอริยสงฆ์ไทย ทั้ง ๑๙ รูป
๔. เพื่อการศึกษาคุณธรรมของคนไทย
ที่ได้สอดแทรกหลักในการดำรงชีวิต ของ ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ในเรื่องสำคัญ อาทิเช่น ความกตัญญู การเฉลี่ยความสุข เมตตาธรรมค้ำจุนโลก การเป็นผู้ให้ไม่ใช่ผู้ขอ กฎแห่งกรรม การทำดีคือดี การทำชั่วคือชั่ว สุขอื่นใดยิ่งกว่าสุขใจไม่มี เป็นต้น
- ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์สักทอง
- การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง
- การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง (๒)
- การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง (๓)
- การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สักทอง (๔)
- หุ่นขี้ผึ้ง (ไฟเบอร์กลาส)