“มงคลนาวิน” นามสกุลพระราชทานครบหนึ่งร้อยปี

0061

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามสกุล “มงคลนาวิน”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขนานนามสกุล “มงคลนาวิน” พระราชทานนายเรือตรีมงคล (นาวาโทพระมงคลนาวาวุธ) ณ เรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๗ นามสกุล “มงคลนาวิน” ดำรงอยู่มาครบ ๑๐๐ ปีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๗

ในวารดิถีอันเป็นมงคลนี้ ข้าพระพุทธเจ้า สมาชิกสายสกุล “มงคลนาวิน” ทั้งหลายต่างล้วนรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระเมตตาคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ การที่ได้รับพระราชทานนามสกุลอันเป็นมงคลนาม พร้อมทั้งพรอันประเสริฐที่พระราชทานให้สกุลวงศ์ “มงคลนาวิน” มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในกรุงสยาม  ตราบชั่วกาลปาวสานนั้น นับเป็นสิริสวัสดิ์มงคล อันยิ่งใหญ่ เป็นเกียรติยศ เกียรติศักดิ์อย่างยิ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหล่าสมาชิกสายสกุลทั้งปวงตลอดมา

จึงร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า

ขอพระองค์ทรงสถิตสถาพร ทรงพระเจริญด้วยวิมุตติสุข อันเป็นนิรันดร์ ณ สวรรคาลัย ขอทรงเป็นหลักชัย ปกปักรักษา นำพา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายให้มีจิตสำนึกประพฤติ ปฏิบัติตน ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมอันดีงาม ทั้งนี้ เพื่อบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคงอยู่ในกรุงสยาม ตราบชั่วกาลปาวสาน สมตามที่ได้พระราชทานพรไว้ถ้วนทุกประการเทอญ.

capture-20141213-104745_Fotor

008

พระมหาธีรราชเจ้าทรงฉลองพระองค์ครุย คุรุบัณฑิต พร้อมด้วยเครื่องแบบราชนาวีไทย

พระราชดำริเรื่องนามสกุล

ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีธรรมเนียมเรื่องการใช้นามสกุลในหมู่ชนชาวไทย ได้แต่เรียกชื่อตัวตนตามที่บิดามารดาหรือให้ผู้ที่เคารพนับถือตั้งให้ เมื่อพลเมืองเพิ่มมากขึ้น จึงบังเกิดความยุ่งยากในด้านการปกครองของทางราชการและทางส่วนตัวที่มีคนชื่อซ้ำกันเป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้ เมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชย์จากพระราชบันทึกจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ความว่า

“ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งได้พูดกันลงความเห็นกันคือว่าด้วยชื่อแส้ฤาตระกูล ซึ่งในเมืองอื่น ๆ เขาก็มีกันแบบทั่วไป แต่ในเมืองเรายังหามีไม่ เห็นว่าดูถึงเวลาอยู่แล้วที่จะต้องจัดให้มีขึ้น การมีชื่อตระกูลเป็นความสะดวกมาก อย่างต่ำ ๆ ที่ใคร ๆ ก็ย่อมจะมองแลเห็นได้คือชื่อทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปะปนกัน

แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ จะทำให้คนเรารู้จักรำฤกถึงบรรพบุรุษของตน   ผู้ได้อุตสาหก่อร่างสร้างตัวมา และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำจะต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้ และการที่จะตั้งใจเช่นนี้ ถ้ามีชื่อที่ต้องรักษามิให้เสื่อมทรามไปแล้ว ย่อมจะทำให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหน่วงใจคนมิให้ตามใจตนไปฝ่ายเดียว จะถือว่า  ตัวใครก็ตัวใครไม่ได้อีกต่อไป จะต้องรักษาทั้งชื่อของตัวเองและชื่อของตระกูลด้วยอีกส่วนหนึ่ง”

พระราชดำริและพระราชนิยมที่จะให้คนไทยมีนามสกุลใช้นั้น นับว่าสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เมื่อทรงตราพระราชบัญญัติขนามนามสกุล พุทธศักราช ๒๔๕๖ ขึ้นใช้

การกำหนดเวลาการใช้พระราชบัญญัติเป็นกฎหมาย การกำหนดวิธีขนามนามสกุล    ในพระราชบัญญัติ ทำให้ประเพณีการขนานนามสกุลแพร่หลายไปทั่วราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว

พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “นามสกุลกับชื่อแส้” เพื่อเน้นให้เห็นถึงพระราชประสงค์ให้คนไทยมีนามสกุลเพื่อกระตุ้นให้บุคคลมีความรักในเกียรติยศมากยิ่งขึ้น

บทพระราชนิพนธ์นี้ สรุปได้ว่า “แซ่” นั้นตรงกับคำว่า “แคลน” (Clan) ของพวกสก๊อต ไตร์บ (Tribe) ของอังกฤษ หรือ โตเตม (Totem) ของพวกอินเดียแดงในอเมริกา คือบ่งให้เห็นความเป็นคณะหรือพวก เพื่อช่วยกันในทางบุกรุกหรือป้องกันคนต่างพวก

แซ่จึงมิได้หมายถึงหรือแปลว่า “เป็นญาติ” ต่างกับ นามสกุล ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า family แสดงถึงการมีบรรพบุรุษร่วมกัน มีความผูกพันเป็นญาติร่วมสายโลหิต ด้วยความรักและเมตตาของผู้มีอาวุโสกว่า และด้วยความเคารพของผู้มีวัยเยาว์กว่า

นามสกุลจึงมีขึ้นบนรากฐานของความรักร่วมสายโลหิต การมีนามสกุลย่อมเป็นเครื่องผูกให้ญาติต่อญาติสนิทกัน ให้รู้สึกว่าเกิดจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน ต้องช่วยกันรักษาชื่อท่านบรรพบุรุษผู้นั้น เพราะการบำรุงความนับถือบรรพบุรุษเป็นองค์แห่งความมั่นคงในวงศ์สกุลเป็นที่ตั้ง อันจะนำไปสู่ความเจริญและความมั่นคงของประเทศชาติได้ในที่สุด.

capture-20141213-104745_Fotor

0133

“มงคลนาวิน” นามสกุลพระราชทาน ลำดับที่ ๑๘๐๔

นับตั้งแต่ได้มีพระบรมราชโองการตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.๒๔๕๖ และกำหนดให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ทำให้การขนานนามสกุลแพร่หลายไปทั่วพระราชอาณาจักรอย่างรวดเร็ว เมื่อพ้น ๖ เดือนนับแต่วันกำหนดใช้พระราชบัญญัติ เจ้าหน้าที่ราชการต้องใช้ชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามที่ลงทะเบียนไว้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯขนานนามสกุล  ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ จำนวน ๕ นามสกุล เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้รับพระราชทานนามสกุลเป็นอันดับแรกคือ “สุขุม”

ในเวลาต่อมามีผู้ขอพระราชทานนามสกุลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและผู้สืบสกุลเป็นจำนวนมาก แม้จะทรงมีพระราชภารกิจมากมาย แต่ด้วยความใฝ่พระราชหฤทัยและพระปรีชาสามารถในเชิงอักษรศาสตร์ นามสกุลที่ทรงประดิษฐ์คำพระราชทานจึงมีความไพเราะ ความหมายเหมาะสมกับประวัติบรรพบุรุษต้นตระกูลที่ผู้ขอพระราชทานจะสืบสาวขึ้นไปได้ สามารถบ่งบอกถึงอาชีพของท่านผู้เป็นต้นสกุลได้เป็นอย่างดี

ที่มาของนามสกุลพระราชทาน “มงคลนาวิน”

จากหนังสือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๕๗ เล่มที่ ๓๑ หน้า ๒๐๙๖ บันทึกข่าวในพระราชสำนักและหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ดังนี้

ในการเสด็จพระราชดำเนิรประพาศทะเลคราวนี้ มิได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะเสด็จขึ้นหัวเมืองใด นอกจากตามเกาะต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย และในระหว่างนี้ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กองทัพเรือฝึกซ้อมในการจัดกระบวนยุทธ์ถวายทอดพระเนตร์ตามพระราชประสงค์“วันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม เวลาบ่ายโมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิรไปประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรกรี ล่องลงไปประทับแรม ณ เมืองสมุทรปราการ ๑ ราตรี พอรุ่งขึ้นเวลาเช้า เรือพระที่นั่งจะได้แล่นออกจากปากน้ำ ประพาศตามฝั่งตะวันออก

อนึ่ง ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิรนี้ จะไม่มีข่าวในพระราชสำนักจนกว่าจะเสด็จพระราชดำเนิร กลับมหานคร”

“การสวนสนามทางเรือ”  ที่ปรากฏบันทึกในราชกิจจานุเบกษาครั้งนี้ นับเป็นการสวนสนามทางเรือครั้งแรกของกองทัพเรือไทย (1)

นับเป็นบุญวาสนาของนายเรือตรีมงคล อิศรางกูร ณ อยุธยา (ต่อมาคือ นาวาโท พระมงคลนาวาวุธ) ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นต้นปืนเรือเสือคำรนสินธุ์ที่เข้าร่วมปฏิบัติการในการสวนสนามทางเรือถวายทอดพระเนตรด้วย


(1) ในการเสด็จพระพาศชายทะเลตะวันออก เดือนธันวาคม ๒๔๕๗ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ “กาพย์เห่เรือ” พระราชทานให้จัดพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมุทสารของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

011

ประทับทอดพระเนตรการสวนสนามทางเรือ

capture-20141213-104745_Fotor

พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายทหารเรือผู้ร่วมในการสวนสนามเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกันบนเรือพระที่นั่งมหาจักรีนั้น เผอิญทรงสังเกตเห็นนายเรือตรีหนุ่มน้อย รูปร่างเจ้าเนื้อสมบูรณ์ เมื่อถวายความเคารพแล้ว ลงนั่งเฝ้าที่เก้าอี้โซฟายาวแบบ ๓ ที่นั่ง ความที่ตัวหนัก เมื่อลงนั่งตรงกลาง ทำให้เพื่อนนายทหาร ๒ คนที่นั่งขนาบอยู่ตัวลอยขึ้นทั้งคู่ เป็นที่น่าขบขัน ทรงพระสรวล แล้วทรงมีพระราชปฏิสันฐานรับสั่งถามว่า

  • “ชื่ออะไร”

ต้นปืนหนุ่มกราบบังคมทูลตอบว่า “นายเรือตรีมงคล พระพุทธเจ้าข้า”

  • “นายเรือตรีมงคล มีนามสกุลของตนเองหรือยัง”

กราบบังคมทูลว่า “ยังไม่มี ขณะนี้ได้ใช้นามสกุล “อิศรางกูร” ของคุณแม่ ม.ล.สังวาลย์ฯอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”

  • “ขอนามสกุลของตนเองได้”

นายเรือตรีมงคล ก้มลงถวายบังคมรับพระราชกระแสด้วยความปลื้มปิติเป็นที่สุด ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานลงมาปกเกล้าฯ แม้จะเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อย เพิ่งรับราชการในกองทัพเรือมาได้เพียง ๒ ปีเศษ

นายเรือตรีมงคล จึงทำหนังสือขอพระราชทานนามสกุล ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โดยมิรอช้า

0101

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงงานบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๕๗

ในสมุดทะเบียนนามสกุลที่เราได้ให้ไป หน้า ๑๑๐ – หน้า ๑๑๑

ปรากฏลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงลงทะเบียนนามสกุลลำดับที่ ๑๘๐๔ ด้วยพระองค์เอง

014

015

จากข่าวในพระราชสำนัก ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๕๗ เล่ม ๓๑ หน้า ๒๒๐๐ ทำให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่า

วันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรกลับจากเสด็จพระราชดำเนิร    ประพาศทเลเข้าสู่พระมหานคร เวลาบ่าย ๕ โมง เรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้จักรถึงท่าราชวรดิษฐ์ …..พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม

ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิรประพาศทเลคราวนี้ โดยมากประทับบนเรือพระที่นั่ง ทอดสมออยู่ ณ สัตหีบ โดยมากประทับบนเรือ ในทเลมีคลื่นลมจัดไม่สงบพอที่จะเสด็จประพาศเพื่อทรงพระราชสำราญได้

ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตร์การฝึกซ้อมแปรกระบวนทัพและซ้อมรบทางเรือ

วันพุฒที่ ๒๓ เรือพระที่นั่งมหาจักรีใช้เครื่องจักรออกจากสัตหีบไปทอดสมอที่ท่าเกาะสีชัง พร้อมด้วยกองเรือรบตามเสด็จเป็นกระบวน

ในเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเลี้ยงแก่บรรดานายทหารเรือทั้งในเรือพระที่นั่งและในเรือต่าง ๆ ในกระบวน ….

และในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏเป็นหลักฐานทางราชการ ในวันเดียวกับข่าวในราชสำนักข้างต้น

มีประกาศครั้งที่ ๒๕ เรื่องพระราชทานนามสกุล …..วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๕๗

มงคลนาวิน   นายเรือตรี นายมงคล

 017

นามสกุลพระราชทานลำดับที่ ๑๘๐๔ “มงคลนาวิน” อุบัติขึ้น ณ แผ่นดินสยามนับแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

capture-20141213-104745_Fotor

admin“มงคลนาวิน” นามสกุลพระราชทานครบหนึ่งร้อยปี