คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(พ.ศ.2515-พ.ศ.2521)


นิติ 5

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน นำคณาจารย์และนิสิตแผนกวิชานิติศาสตร์

คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2514

เพื่อทูลเกล้าถวายเงินจำนวน 10,000 บาท

สมทบทุน อนันทมหิดล สาขาวิชานิติศาสตร์

capture-20141213-104745_Fotor

รูปท่านอาจารย์คณบดีคณะนิติศาสตร์

ตัวอักษรคณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬา

รูปคณะนิติศาสตร์จุฬา

capture-20141213-104745_Fotor

การก่อตั้งคณะนิติศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                                    ศ.ดร.อุกฤษ  มงคลนาวิน

            คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๖๔ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ และให้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๙๓ ฉบับพิเศษ ลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๕ เพราะฉะนั้นวันที่ถือว่าเป็นวันเกิดของคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรจะพิจารณาได้หลายแนวทาง

แนวทางแรกถือว่าวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๖๔ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ เป็นวันเกิดของคณะก็น่าจะเป็นเรื่องที่มีเหตุผล เพราะได้พูดถึงคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรก ส่วนวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ เป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๖๔ มีผลใช้บังคับ คือใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๑๕ จึงทำให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ ก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่ควรจะถือว่าวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๑๕ เป็นวันเกิดของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่การพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแล้ว คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะถือเอาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ เป็นวันเริ่มกำเนิดของคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๔ เป็นที่มาของวันเกิด

เนื้อหาของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๔ มีว่า โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นว่าวิชานิติศาสตร์ เป็นวิชาสำคัญและจำเป็นแก่การศึกษาในมหาวิทยาลัย และแก่ประเทศโดยส่วนรวมซึ่งได้จัดตั้งขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ นั้น ได้เจริญก้าวหน้าเป็นลำดับมีนิสิตจำนวนมากขึ้นจนต้องเปิดสอนทั้งภาคปกติและภาคสมทบและได้ขยายการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นไปจนถึงชั้นปริญญาโท สมควรแยกแผนกวิชานิติศาสตร์ออกจากคณะรัฐศาสตร์ แต่จัดตั้งขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาในวิชาการสาขานี้ให้เจริญยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้มีการศึกษาจนถึงขั้นปริญญาเอกในโอกาสต่อไป

หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

๑.ให้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์เพิ่มขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒.ให้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีการที่ออกมาในมาตรา ๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๘๗)

๓.ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้

๔.ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

            ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕

 

จอมพล ถ. กิตติขจร

หัวหน้าคณะปฏิวัติ


  • เหตุผลในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  1. ได้พิจารณาเห็นว่า ระบบของมหาวิทยาลัยที่เป็นสากลในประเทศยุโรปจะประกอบไปด้วยคณะวิชาที่มีความสำคัญและเป็นหลัก ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์  คณะนิติศาสตร์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงน่าจะต้องมีคณะนิติศาสตร์ที่เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ว่าตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ จะได้มีการจัดตั้งแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นแล้ว แต่เป็นแผนกวิชาที่สังกัดกับคณะรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามแผนกวิชานิติศาสตร์เป็นแผนกวิชาที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแผนกวิชาอิสระมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ แล้ว เพราะเหตุว่าปริญญาที่นิสิตได้รับเป็นปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต ไม่ใช่ปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิต แผนกวิชานิติศาสตร์ในคณะรัฐศาสตร์นั้นเป็นแผนกวิชาที่มีลักษณะพิเศษควรจะได้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นคณะนิติศาสตร์อย่างสมบูรณ์ได้แล้ว
  2. มีความเห็นว่าคณะวิชาที่ประสาทปริญญานิติศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต่อไปจะมีปริญญาโทและปริญญาเอก จึงควรจะให้คณะนิติศาสตร์เป็นผู้ประสาทปริญญาดังกล่าวไม่ใช่คณะรัฐศาสตร์
  3. นิติศาสตร์บัณฑิตที่จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องไปแข่งขันกับภายนอกในการประกอบอาชีพหรือรับราชการ ฉะนั้นควรจะได้มีการพิจารณาถึงศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยควรจะมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญาเท่าเทียมกับนิติศาสตร์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยอื่น จึงควรให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสาทปริญญานิติศาสตร์ โดยคณะนิติศาสตร์แทนคณะรัฐศาสตร์

  • การเริ่มดำเนินการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์

            1.เมื่อเริ่มเข้าเป็นอาจารย์ในแผนกวิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามคำเชิญชวนของท่าน ศาสตราจารย์เกษม อุธยานินทร์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ในขณะนั้น โดยท่านมีความประสงค์ที่จะหานักกฎหมายที่จบจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์ เพื่อพัฒนานักกฎหมายของแผนกวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในแผนกวิชานิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.2509 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำวิชาความรู้ที่ได้รับมาจากต่างประเทศ และเป็นประเทศที่เป็นที่มาของกฎหมายในประเทศไทย ได้แก่กฎหมายของประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้มีอิทธิพลต่อกฎหมายไทย และนักกฎหมายไทยเป็นอย่างมากจึงคิดว่าการที่ไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีสเป็นเวลาถึง 5 ปี โดยเรียนกฎหมายหลักได้แก่การเรียนกฎหมายเอกชน(Droit Prive) ซึ่งนอกจากหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว ได้เรียนกฎหมายหลักคือกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ กฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล อย่างนี้เป็นต้น จึงมีเจตนาแรงกล้าที่จะมีส่วนในการสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน เนื่องจากในขณะนั้นมีนักกฎหมายจากต่างประเทศเริ่มเข้ามาประกอบอาชีพกฎหมายในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆเพื่อสนองการเข้ามาลงทุนของชาวต่างประเทศในประเทศไทย และต้องยอมรับว่านักลงทุนชาวต่างประเทศเมื่อจะเข้าไปลงทุนในประเทศใด เรื่องที่จะต้องพึ่งพามากที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหากฎหมายต่างๆ เช่น เรื่องการลงทุน การจัดตั้งบริษัท การจัดการบริษัท กฎหมายภาษีอากร กฎหมายที่ดิน กฎหมายศุลกากร กฎหมายการลงทุน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายก่อสร้าง และอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนชาวต่างประเทศจำเป็นต้องรับฟังความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมาย แต่ในขณะนั้นนักกฎหมายไทยและสำนักงานกฎหมายของคนไทยโดยทั่วไปยังไม่สามารถจะให้บริการแก่ชาวต่างประเทศได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงทำให้นักกฎหมายชาวต่างประเทศได้เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพกฎหมายในประเทศไทย ในรูปแบบของที่ปรึกษากฎหมาย ไม่ใช่ทนายความ ในรูปแบบของเจ้าของสำนักกฎหมายโดยชาวต่างประเทศเป็นผู้รับการติดต่อจากบรรดานักลงทุนชาวต่างประเทศแล้วจ้างนักกฎหมายไทยที่พอจะรู้ภาษาต่างประเทศเป็นทนายความในสำนักงานของตนซึ่งในขณะนั้นได้มีแรงต่อต้านนักกฎหมายจากต่างประเทศในรูปแบบนี้ เพียงแต่ยังไม่ใช่เป็นการต่อต้านที่รุนแรง แต่เริ่มมีความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อการเข้ามาประกอบอาชีพกฎหมายในประเทศไทย ถึงแม้ว่าชาวต่างประเทศจะไม่สามารถประกอบอาชีพทนายความในประเทศไทยได้ก็จริง แต่การที่เป็นหัวหน้าของนักกฎหมายคนไทย เป็นเจ้าของกิจการ และเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับนักธุรกิจชาวต่างประเทศก็เป็นการแย่งการประกอบอาชีพของนักกฎหมายคนไทย ขณะเดียวกันถ้าเราเพียงแต่ต่อต้านนักกฎหมายชาวต่างประเทศ โดยนักลงทุนชาวต่างประเทศก็ไม่สามารถที่จะได้รับการบริการทางกฎหมายหรือการลงทุนจากนักกฎหมายไทย นักลงทุนเหล่านั้นจะไม่สามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เป็นการทำลายธุรกิจและบรรยากาศการลงทุนของชาวต่างชาติที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวได้แก่การที่จะต้องมีความพยายามที่จะสร้างนักกฎหมายไทยขึ้นมารองรับและให้บริการแก่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้ จริงอยู่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะสร้างนักกฎหมายคนไทยเหล่านี้แต่ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ขณะนั้นก็จะเป็นการสายเกินไป เพราะฉะนั้นการที่ยอมรับเข้ามาเป็นอาจารย์กฎหมาย จึงเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องการพัฒนานักกฎหมายไทยให้มีความทันสมัยเป็นสากลขึ้น

            2.ประการต่อไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นที่ยอมรับกันว่าในขณะนั้นการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ของคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยึดถือแนวทางดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้น โดยได้ให้ความสำคัญแก่กฎหมายหลัก 4 เล่ม ได้แก่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกนั้นก็มีการศึกษากฎหมายประกอบอื่นๆ เช่น กฎหมายลักษณะพยาน ธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายที่ดิน กฎหมายภาษีอากรซึ่งกฎหมายภาษีอากรก็มีการเรียนการสอนกันน้อยมาก นอกจากนั้นการเรียนการสอนจะยึดแนวอธิบายหลักกฎหมาย ประกอบด้วยแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักโดยผู้สอนได้อธิบายหลักกฎหมายโดยอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกามารองรับ ซึ่งทำให้การเรียนการสอนวิชากฎหมายมีความคับแคบ การเขียนตำราหรือคำสอนในวิชากฎหมายเป็นการนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาวางเป็นแนวทางในการวินิจฉัย ซึ่งเรียกว่าการวางธง ซึ่งมีผลไปถึงการสอบกฎหมายแทนที่การวัดผลจะวัดความรู้ในหลักกฎหมาย แต่เป็นการวัดผลว่าคำตอบกฎหมายที่ได้ตอบมานั้นตรงกับแนวทางที่คณะผู้ออกสอบหรือกรรมการสอบได้วินิจฉัยไว้ ว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งภาษาโดยทั่วไปเรียกว่าตรงกับธงคำตอบที่ผู้สอนหรือคณะผู้ออกข้อสอบได้วางไว้หรือไม่และการเรียนการสอนแบบนี้ยังขยายผลไปถึงการเรียนการสอนในสำนักอบรมและศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาด้วย ซึ่งในหลักการของสากลแล้วการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์เป็นการเรียนการสอนโดยให้มีความรู้ในเรื่องตัวบทกฎหมาย  หลักกฎหมาย  ปรัชญากฎหมาย เพื่อเป็นนักนิติศาสตร์ แต่การเรียนการสอนในสำนักอบรมศึกษากฎหมายเป็นการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะออกไปประกอบอาชีพกฎหมายได้ เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนจึงไม่น่าจะเหมือนกันแต่เหตุผลที่การเรียนการสอนใช้แนวทางดังกล่าว เพราะอาจารย์ผู้สอนเกือบทั้งหมดเป็นผู้พิพากษาเป็นส่วนใหญ่ จะมีอัยการบ้างก็เป็นส่วนน้อยนอกจากนั้นก็อาจจะมีนักกฎหมายจากหน่วยงานอื่นบ้าง อาจารย์ผู้สอนเกือบทั้งหมดไม่เคยได้รับการศึกษาวิชากฎหมายจากต่างประเทศจึงทำการสอนตามแนวทางดั้งเดิม คือการศึกษาตัวบทประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเอาถ้อยคำในตัวบทมาตีความหมายหรือแปลความหมายตามความเห็นของตนเองประกอบกับอาศัยแนววทางคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งก็คืออาศัยการแปลความกฎหมายในบางประโยคบางวรรค หรือบางถ้อยคำโดยไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ซึ้งถึงที่มาของหลักกฎหมายของแต่ละมาตรา แต่ละส่วนที่บัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมาย ทำให้การเรียนการสอนวิชากฎหมายไม่มีประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์

             3.ประการต่อไปคือตำรากฎหมายมีน้อยมาก เพราะอาจารย์ผู้สอนกฎหมายส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นอาจารย์พิเศษที่มีงานประจำมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยจัดเชิญมาสอนก็เป็นอาจารย์ที่เป็นผู้ใหญ่หรืออาวุโสพอสมควรซึ่งท่านเหล่านี้ต่างก็มีงานประจำหรืองานพิเศษมากยิ่งขึ้นตามตำแหน่งหน้าที่เพราะฉะนั้นจึงหาเวลาที่เขียนคำสอน หรือเขียนตำรากฎหมายเพื่อประกอบคำสอนได้น้อยมาก ส่วนผู้ที่มีความขยันในการเขียนตำราหรือคำสอนกฎหมาย ก็เป็นการเขียนในลักษณะที่เขียนคำอธิบายตามความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ได้ศึกษาถึงที่มาหรือหลักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วไป และนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องมาใส่ไว้ในคำอธิบายนั้น และในการวัดผลหรือในการสอบถ้าผู้สอบตอบไม่ตรงกับแนวทางที่ศาลฎีกาวางไว้ก็ถือว่าผิด ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลเพียงใดก็ตามซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าที่จะต้องมีการแก้อย่างยิ่ง การนำคำพิพากษาศาลฎีกามาเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาข้อสอบนั้นน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะความสามารถของผู้สอบวิชากฎหมายควรจะวัดผลหรือวินิจฉัยจากความรู้ความเข้าใจของผู้สอบที่มีความเข้าใจในตัวบทกฎหมายอย่างลึกซึ้งเพียงใด การยกตัวอย่างเพียงไม่กี่บรรทัดมาตั้งเป็นคำถามแล้วให้ผู้สอบวินิจฉัยว่าผลที่ออกมาจะเป็นสีขาวหรือสีดำ ถ้าธงคำตอบตั้งไว้ว่าจะต้องออกมาเป็นสีขาวผู้ที่ตอบมาเป็นสีดำก็สอบตก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะขัดกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง เพราะในการพิจารณาคดีแต่ละคดีจะเห็นได้ว่าแต่ละคดีจะมีคณะผู้พิพากษาเกินกว่าหนึ่งคน ที่เรียกว่าเป็นองค์คณะมีการให้ทนายความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ถึงกระนั้นก็ตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของผู้พิพากษาทั้งๆที่ได้รับฟังคำพยานหลักฐานจากคู่ความทั้งสองฝ่ายโดยละเอียดเป็นร้อยๆหน้าก็ยังไม่ถึงขนาดที่มีความเห็นตรงกันหมดทุกเรื่องทุกประเด็น แต่ในคำตอบของวิชากฎหมายในประเทศไทยยังยึดถือแนวทางดั้งเดิมดังกล่าวแล้ว

            4.เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ได้ยอมรับมาเป็นอาจารย์ในแผนกวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เพื่อต้องการที่จะพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์เสียใหม่ ซึ่งเมื่อได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นแล้ว ก็ได้วางแนวทางให้กับบรรดาอาจารย์ผู้สอนว่าการวินิจฉัยคำตอบของผู้เข้าสอบนั้นขอให้พิจารณาความรู้ความสามารถและความเข้าใจในตัวบทกฎหมายเป็นหลัก โดยให้พิจารณาว่าการที่ผู้สอบได้ตอบคำถามโดยได้วินิจฉัยว่าคำตอบควรจะเป็นสีขาวหรือสีดำนั้นมีเหตุผลในหลักกฎหมายใดมารองรับหรือไม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงคำตอบว่าจะเป็นสีขาวหรือสีดำ ปรากฏว่าเมื่อได้เริ่มมีการยอมรับแนวทางนี้อย่างน้อยที่สุดในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 30 ปีที่แล้วก็ได้พัฒนามาเป็นแนวทางในการวินิจฉัยคำตอบของผู้สอนในปัจจุบันในมหาวิทยาลัยหรือในสำนักศึกษาที่มีการสอนวิชากฎหมายต่างๆ

            5.ประการต่อไปได้พิจารณาถึงการศึกษาวิชากฎหมายในประเทศไทย ซึ่งได้เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นเวลานานแล้ว แต่โดยทั่วไปการศึกษาในระดับปริญญาเอกเกือบจะไม่มีเลย และที่เคยมีผู้ได้รับปริญญาเอกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นผู้ได้รับปริญญาหลัง พ.ศ.2510 แม้ผู้ที่เข้าเรียนปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการลงทะเบียนเรียนพอสมควรแต่จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาโทมีน้อยมาก ซึ่งการเรียนการสอนไม่มีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นสากลในการวินิจฉัยคำตอบของนักศึกษา และผู้สอนที่มีความภาคภูมิใจผิดๆที่สามารถคุยได้ว่า หลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานสูงจนถึงบางปีไม่มีผู้สอบได้เลย ถึงแม้จะมีผู้เรียนพอสมควรก็ตาม ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิดพลาด ด้วยเหตุนี้ทำให้การเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ในระดับปริญญาโทนอกจากไม่มีตำราเรียนหรือเป็นตำราที่จัดทำขึ้นโดยไม่ใช่ตำรามาตรฐานและยังเน้นหลักเฉพาะกฎหมาย 4 เล่ม ซึ่งเป็นกฎหมายหลักดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่ขยายรวมไปถึงกฎหมายเปรียบเทียบ กฎหมายมหาชน กฎหมายธุรกิจและกฎหมายอื่นๆเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของโลกในปัจจุบัน

            6.ประการต่อไปในฐานะที่เป็นอาจารย์กฎหมาย เมื่อประเทศมีหลักการว่าบุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมาย บุคคลใดจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่ในข้อเท็จจริงการที่จะสมมุติให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้กฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะให้ประชาชนมีความรู้ทางกฎหมาย จะต้องมีการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายไปสู่ประชาชน ผู้ที่จะเผยแพร่ได้น่าจะได้แก่อาจารย์ นักศึกษา ผู้มีอุดมการณ์ในการที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม แต่เมื่ออาจารย์ผู้สอนในคณะนิติศาสตร์แม้แต่กระทั่งในแผนกวิชานิติศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นข้าราชการศาล อัยการหรือประกอบอาชีพอื่นอยู่แล้ว จึงไม่มีเวลาที่จะมีส่วนร่วมในการให้ความรู้หรือการเผยแพร่กฎหมายไปสู่ประชาชน และไม่สามารถที่จะจัดรวบรวมนิสิตนักศึกษาให้ดำเนินการเผยแพร่กฎหมายไปสู่ประชาชนได้ ซึ่งมีความเห็นว่า นิสิตนักศึกษาควรจะมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการให้ความรู้ทางกฎหมายและเผยแพร่กฎหมายไปสู่ประชาชน จึงได้เริ่มแนวทางในการที่จะให้นิสิตได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่กฎหมายไปสู่ประชาชนตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้ามาเป็นอาจารย์กฎหมาย

           7.ประการต่อไปต้องการให้มีการผลิตตำรา คำบรรยาย ข้อเขียน บทความกฎหมายซึ่งในขณะนั้นยังมีน้อยมาก เพราะขาดผู้นำและผู้ดำเนินการในทางด้านนี้

           8.ประการต่อไปคือการขาดแนวทางในการที่จะสนับสนุนส่งเสริมนักศึกษาที่มีแวว “ที่จะเป็นนักกฎหมายที่ดีให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นเพื่อรับใช้ประเทศชาติในอนาคต”โดยเฉพาะจะต้องสร้างอาจารย์ประจำที่มีแววที่จะเป็นนักกฎหมายที่จะเป็นอาจารย์ที่ดีได้ โดยถือหลักว่าเมื่อครูดีลูกศิษย์ก็ควรจะดีไปด้วย

           และข้างต้นนี้คือปณิธานที่จะปฏิรูปแนวทางการเรียน การสอนวิชานิติศาสตร์ โดยการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์เพื่อพัฒนานักนิติศาสตร์ในอนาคตให้เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในหลักกฎหมายมีความรู้ความสามารถและใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ เพื่อรับใช้ประเทศชาติและรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ


  • การดำเนินการตามขั้นตอนในการจัดตั้ง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            ได้เริ่มดำเนินการตามแนวทางที่ให้สังคมภายนอกได้รู้จักนิติศาสตร์บัณฑิตหรือนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ได้ให้มีการจัดงานวันรพีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาของนักกฎหมายไทย” ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของนิสิตนิติศาสตร์แล้วยังได้นำคณะนิสิตเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกปีเป็นเวลาหลายปีจนทรงรู้จักนิสิตนิติศาสตร์จุฬาฯ

            ได้มีการจัดทำหนังสือ “ปัญหากฎหมายสำหรับประชาชน” ในรูปแบบคำถามคำตอบง่ายๆขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2512 จัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 5,000 เล่ม เผยแพร่ไปสู่ประชาชนทั่วไปโดยให้บริจาคเงิน จำนวน 25 บาทจะได้รับหนังสือ 1 เล่ม ปรากฏว่ามีผู้บริจาคเงินรายละกว่า 25 บาท จำนวนมาก สามารถเผยแพร่หมดภายในเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะมีผู้สนใจหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเช่นนี้เงินที่ได้จำนวน 120,000 บาท ได้มอบให้วัดไผ่ล้อม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างศาลาการเปรียญซึ่งทรุดโทรมและสร้างอาคารเรียน และต่อมาได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดพิมพ์ขึ้นอีกหลายครั้ง

            ได้จัดตั้ง “ศูนย์แนะนำกฎหมาย” ขึ้นในแผนกวิชานิติศาสตร์ โดยมีที่ทำการอยู่ที่อาคาร 2 คณะรัฐศาสตร์ ให้อาจารย์และนิสิตเป็นผู้ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชน โดยยึดแนวทางของ “หนังสือปัญหากฎหมายสำหรับประชาชน” เป็นหลัก

            ได้ริเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์แนะนำกฎหมายเคลื่อนที่” และยังจัดให้มีการกรอกแบบสอบถามปัญหาข้อขัดข้องต่างๆของประชาชน ซึ่งประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพื่อเสนอต่อไปยังรัฐบาลซึ่งก็มีประชาชนได้กรอกแบบสอบถามตอบกลับมาเป็นจำนวนมาก

            ต่อมาเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของแผนกวิชานิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมอบให้นิสิตโดยมี อาจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ ซึ่งเป็นหัวหน้านิสิตในขณะนั้นดำเนินการจัดอภิปรายในหัวข้อ “ความมั่นคงของชาติ” ขึ้นที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายในระดับประมุขของอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการ ได้แก่ พลเอกถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรี นายวรการ บัญชา ประธานรัฐสภา  และดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฏีกา โดย ดร.อุกฤษ  มงคลนาวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยการอภิปรายในวันนั้นได้มีการถ่ายทอดการอภิปรายเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2513 ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกแขนงและจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยมีการอภิปรายร่วมกันของสามประมุขสูงสุดของสามสถาบันดังกล่าวแล้ว  ซึ่งทำให้การเผยแพร่ชื่อเสียงของแผนกนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่รู้จักโดยแพร่หลายและประสบความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง

นิติ 4

การอภิปรายเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2512 ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยประมุขของอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ได้แก่ ฯพณฯจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี,ฯพณฯพันเอกนายวรการ  บัญชา ประธานรัฐสภา,ฯพณฯดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ประธานศาลฏีกา โดยมี ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

            ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรการสอนชั้นปริญญาโทแผนกวิชานิติศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ.2512 ให้เป็นการสอนในลักษณะกฎหมายเปรียบเทียบ ซึ่งผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษากฎหมายจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่าปริญญาโทขึ้นไป หรือปริญญาตรีจากประเทศอังกฤษ โดยได้เน้นด้านกฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายทางด้านธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้กฎหมายได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และในขั้นต่อไปได้ดำเนินการเปิดสอนในชั้นปริญญาเอกซึ่งตรงกับเหตุผลสำคัญในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 164 ที่มีความตอนหนึ่งว่า “แผนกวิชานิติศาสตร์ได้ขยายการศึกษาวิชานิติศาสตร์ขึ้นไปจนถึงชั้นปริญญาโทสมควรแยกแผนกวิชานิติศาสตร์ออกจากคณะรัฐศาสตร์แล้วจัดตั้งเป็นคณะนิติศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยพัฒนาการศึกษาในวิชาการศึกษาสาขานี้ให้เจริญยิ่งขึ้นและเปิดโอกาสให้มีการศึกษาจนถึงขั้นปริญญาเอกในโอกาสต่อไป”

นิติจุฬาฯ2

ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์,ศ.มรว.เสนีย์ ปราโมชย์,ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ร่วมอภิปรายทางวิชาการ

            ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการตามลำดับตามขั้นตอนโดยที่ใช้เวลาพอสมควรในการที่จะก้าวเดินและเตรียมการ เพื่อการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อไปจะได้กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


  • ปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์

            ประการแรกเมื่อจะมีการจัดตั้งนิติศาสตร์จำเป็นจะต้องมีการจัดร่างหลักสูตรแล้วแบ่งแยกแผนกวิชาในคณะนิติศาสตร์ขึ้น ในกฎหมายเก่าไม่ได้เรียกแผนกวิชาว่าภาควิชาเช่นในปัจจุบัน แต่ในคณะต่างๆ  จัดแบ่งออกเป็นวิชาต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อจะมีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีการจัดแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการจัดแบ่งแผนกออกเป็น 5 แผนกวิชา คือ แผนกวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์  แผนกวิชากฎหมายอาญา แผนกวิชากฎหมายวิธีกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แผนกวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และแผนกวิชากฎหมายมหาชน และกฎหมายปกครอง

            อย่างไรก็ตามไว้วางแนวทางในการจัดร่างหลักสูตรการเรียน การสอนใหม่ ไม่เน้นการเรียนการสอนเฉพาะกฎหมายหลัก 4 เล่มตามที่เคยเป็นคือกฎหมาย  แต่ให้หลักสูตรมีความกว้างขวางมีความครอบคลุมไปถึงกฎหมายอื่น โดยเฉพาะทางด้านกฎหมายธุรกิจ ด้านกฎหมายมหาชน และกฎหมายต่างประเทศ

            ได้ทำความเข้าใจกับบรรดาคณาจารย์ผู้สอนเกี่ยวกับแนวทางในการสอนและแนวทางในการวัดผลของนิสิต   เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ริเริ่มและค่อย  ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับโดยต้องใช้เวลาในการที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยชินของบรรดาคณาจารย์รุ่นเก่า แนวความคิดในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์โดยการแยกแผนกวิชานิติศาสตร์ออกมาจากคณะรัฐศาสตร์นั้นได้มีคณาจารย์บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยและนิสิตบางกลุ่มซึ่งเป็นส่วนน้อยเช่นเดียวกันไม่เห็นด้วยและแสดงความเห็นในทำนองคัดค้าน ในส่วนของผู้ใหญ่สองท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล หัวหน้าแผนกวิชานิติศาสตร์และศาสตราจารย์เกษม  อุทยานินท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ทั้งสองท่านนี้ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและมีส่วนร่วมในการพิจารณาเรื่องราวและเอกสารเรื่องการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์แต่อย่างใด เหตุเพราะทั้งสองท่านมีงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้วจึงไม่เวลาเพียงพอในการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นอกจากนั้นท่านไม่ต้องการให้เกิดมีปัญหาข้อพิพาทหรือขัดแย้งขึ้นภายในคณะรัฐศาสตร์

            ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือและรู้เห็นในการดำเนินการ ตั้งแต่เริ่มต้นโดยจัดพิมพ์เอกสาร โครงการและเอกสารประกอบต่างๆ  เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐศาสตร์แลมหาวิทยาลัยนั้น ได้แก่นิสิตในขณะนั้น 2 คน  ได้แก่ อาจารย์ประสิทธิ์  โฆวิไลกุล  และอาจารย์จุฑา กุลบุศย์   ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์สืบต่อจากข้าพเจ้าทั้งสองคนภายหลังที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งคณบดีอยู่ 6 ปี

            อุปสรรคในการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์เมื่อผ่านพ้นไปถึงทบวงมหาวิทยาลัยแล้วได้รับการคัดค้านอย่างมากจากปลัดทบวงในขณะนั้นโดยไม่เห็นด้วยในการที่จะให้มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ซึ่งการคัดค้านนี้มีผลมากและเสียเวลาอีกระยะหนึ่งแต่เรื่องก็ได้ผ่านไปถึงสภาการศึกษาแห่งชาติ   เป็นองค์กรสุดท้ายที่พิจารณาให้ความเห็นชอบว่าจะให้มีการจัดตั้งคณะหรือแผนกวิชาในมหาวิทยาลัยหรือไม่ปรากฏว่าเลขานุการสภาการศึกษาแห่งชาติในขณะนั้น  ดร.นงเยาว์  กาญจนจารี  ได้มีความเห็นคัดค้านอย่างแข็งขัน โดยอ้างว่าคณะนิติศาสตร์ได้มีอยู่แล้วที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากนั้นเพิ่งมีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกแห่งหนึ่งในรูปของมหาวิทยาลัยเปิด

            เรื่องนี้ได้ใช้เวลาพอสมควรในการทำความเข้าใจกับผู้รับผิดชอบระดับสูงซึ่งในขณะนั้นประธานสภาการศึกษาแห่งชาติได้แก่  ศาสตราจารย์ ดร.สุกิจ   นิมมานเหมินทร์

            อาจารย์ ดร.สุกิจ  นิมมานเหมินทร์ ได้ตัดสินใจอนุมัติโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ส่งเรื่องต่อไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ขณะนั้นได้แก่คณะปฏิวัติซึ่งมี จอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

            เป็นเรื่องบังเอิญของคณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกเช่นเดียวกัน ในขณะนั้นไม่ได้มีสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ  ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะปฏิวัติที่มีจอมพลถนอม  กิตติขจร  เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติให้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายรักษาความมั่นคงของชาติร่วมกับนักกฎหมายอีกบางท่าน  จึงได้รับความเชื่อถือจากบรรดาผู้มีอำนาจในขณะนั้นในระดับหนึ่ง  มีความสัมพันธ์กับบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีความสำคัญในด้านธุรการที่จะผ่านร่างประกาศของคณะปฏิวัติต่างๆ เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

            เรื่องการอนุมัติจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ได้ผ่านจากสภาการศึกษาไปสู่คณะปฏิวัติแล้ว ในช่วงนั้นเป็นช่วงปลายของคณะปฏิวัติซึ่งมีร่างประกาศของคณะปฏิวัติเป็นจำนวนมากค้างการพิจารณาอยู่   ข้าพเจ้าได้จัดร่างประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 164 ขึ้นและได้ประสานงานกับบรรดาเจ้าหน้าที่คนสำคัญที่เกี่ยวข้องซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดี จนกระทั่งก่อนที่คณะปฏิวัติจะสลายตัวไปได้มีการออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 164 ให้มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้วข้างต้น

             การที่ ดร.นงเยาว์  กาญจนจารี ซึ่งเป็นผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์อย่างเข้มแข็งในที่สุดได้ให้ นายพรพรหม กาญจนจารี ซึ่งเป็นบุตรชายเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งกว่านั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วยังฝากให้ฝึกงานและทำงานที่สำนักกฎหมายของข้าพเจ้าอีกด้วย ซึ่งต่อมาเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวิชาชีพทนายความ

             ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าบัดนี้ได้เวลาสมควรแล้วที่เรื่องการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ควรจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์องคณะนิติศาสตร์เพื่อให้ผู้ที่เป็นนิสิตเก่า  ครูบาอาจารย์  และนิสิตที่จะเข้าศึกษาต่อไปได้รู้ถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการมาตลอดเวลา จนกระทั่งประสบความสำเร็จดังที่ได้กล่าวมาแล้ว   ข้าพเจ้าก็ได้มีความดีใจและภาคภูมิใจที่เกิดมาไม่เสียชาติเกิดตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าในฐานะที่เป็นนักกฎหมายจะดำเนินการทุก       ๆ ด้านและในทุกวงการจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป


  • การเลือกตั้งคณบดีคณะนิติศาสตร์

          เมื่อมีการประกาศของคณะปฏิวัติจัดตั้งคณะนิติศาสตร์เสร็จเรียบร้อยแล้วทางมหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งคณบดีคณะนิติศาสตร์ขึ้น เป็นปัญหาว่าผู้ใดจะมาเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์เป็นคนแรก ในขณะนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล เป็นหัวหน้าแผนกวิชาและเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้ามาก่อน ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นขอให้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล เป็นคณบดี โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยในแนวทางของข้าพเจ้า จึงได้ตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนแรกมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแน่นอน 1 เดือนและหลังจากนั้นให้มีการเลือกตั้งคณบดีคนใหม่โดยให้มีผู้รักษาการคณบดีในช่วงรอยต่อดังกล่าว ซึ่งในที่สุด อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ชูโต ได้เป็นผู้รักษาการคณบดีในช่วงสั้นๆ

          ต่อมาได้มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่งเพื่อเลือกตั้งคณบดีคณะนิติศาสตร์ต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล การเลือกตั้งคณบดีในขณะนั้นให้เลือกตั้งจากหัวหน้าแผนกวิชาต่างๆ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาต่างๆในขณะนั้นมีข้าพเจ้า อาจารย์อนุมัติ     ใจสมุทร อาจารย์สมนึก ประยูรวงศ์  และอาจารย์ดำรง ธรรมารักษ์ ภายหลังก่อนมีการเลือกตั้งคณบดี อาจารย์อนุมัติ ใจสมุทรได้ขอร้องข้าพเจ้าโดยแจ้งว่าได้จัดพิมพ์หนังสือรวมคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ ได้ลงทุนไปเป็นจำนวนพอสมควรเพื่อกระตุ้นและเพื่อสนับสนุนในการจำหน่ายหนังสือจึงขอเป็นคณบดีก่อน แต่ว่าข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องจึงได้แจ้งว่าขอให้เป็นมติของสภามหาวิทยาลัยที่จะเลือกผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้แล้วข้าพเจ้าจะยอมรับมติของสภามหาวิทยาลัยทุกประการ ปรากฏว่าผลจากการลงคะแนน อาจารย์อนุมัติ  ใจสมุทร ได้รับการเลือกตั้ง 2 เสียง อาจารย์สมนึก 1 เสียง ส่วนอาจารย์ดำรงไม่มีเสียงสนับสนุนเลย นอกจากนั้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เหลือทั้งหมดสนับสนุนข้าพเจ้าให้เป็นคณบดี ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ปรากฏในรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

          อาจจะพูดได้ว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงได้รับการสนับสนุนอย่างมากมายจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกสภามหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สุกิจ นิมมานเหมินทร์ และอธิการบดี คือ ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นิลนิธิ น่าจะเป็นเพราะท่านทั้งสองได้รู้จักและได้เคยขอให้ข้าพเจ้าไปร่วมงานด้วย ได้ทราบถึงความรู้ความสามารถและความตั้งใจดีของข้าพเจ้ามาก่อน เพราะฉะนั้นทั้งสองท่านจึงให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันที่ให้ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งคณบดี นอกจากนั้นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ขอตัว อาจารย์รุ่งฤทธิ์ ศยามานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นบุตรชายศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการไปเป็นผู้ช่วยที่สำนักงานจัดการผลประโยชน์ของจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูง ได้ทราบการทำงานของข้าพเจ้าด้วย เพราะฉะนั้นการที่ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งคณบดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะท่านผู้ใหญ่และกรรมการท่านอื่นๆที่ประกอบด้วยคณบดีทุกคณะและผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆเกือบทั้งหมดได้พิจารณาแล้วเห็นชอบ และประการสำคัญคือข้าพเจ้าเป็นคณบดีคนเดียวทีไม่ได้จบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบรรดาคณบดี 15 คณะในขณะนั้น


  • การดำเนินงานของคณะนิติศาสตร์ภายหลังการรับตำแหน่งคณบดี

            การดำเนินการในฐานะคณบดีคณะนิติศาสตร์ประการแรกได้แก่การแต่งตั้งเลขานุการคณะนิติศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองจากคณบดี

            ข้าพเจ้าได้กำหนดแนวทางว่าจะให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์แผนกวิชานิติศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ความสามารถในการศึกษาเป็นที่ยอมรับกันพอสมควรและมีฐานะเป็นอาจารย์ในแผนกวิชานิติศาสตร์อยู่แล้วได้เข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยได้ตัดสินใจเลือกอาจารย์ดำรง  ธรรมารักษ์ เป็นเลขานุการคณะ

             เรื่องเร่งด่วนต่อไปคือการแก้ไขการมอบอำนาจการดำเนินการทางด้านธุรการของคณะนิติศาสตร์ในขณะที่จัดตั้งคณะนั้นมีอาจารย์ประจำที่สังกัดแผนกวิชานิติศาสตร์และโอนมาขึ้นกับวิชานิติศาสตร์มี 6 ท่านและมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียงไม่กี่คนแต่มีความเชื่อมั่นว่าสามารถที่จะดำเนินการทางด้านธุรการหรือด้านการบริหารเองได้จึงได้แจ้งการขอรับการดำเนินกิจการด้านธุรการของคณะนิติศาสตร์มาดำเนินการเองภายในเวลา 3 วัน นับจากวันที่รับเลือกตั้งเป็นคณบดี การดำเนินงานเป็นไปได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ งานต่อไปก็คือการดำเนินการ ตั้งงบประมาณเพื่อจัดสร้างอาคารคณะนิติศาสตร์เป็นการถาวร ในที่สุดได้รับการจัดสรรงบประมาณในการสร้างตึกมาเป็นเงิน 3,500,000 บาท ซึ่งเมื่อ 32 ปีที่แล้วยังถือว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากแต่ก็ได้ดำเนินการใช้เงินงบประมาณนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเขียนแบบโดยมีอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นสถาปนิกและอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิศวกร

             เมื่อได้งบประมาณในการจัดสร้างอาคารและเขียนแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัญหาหนักใจและยุ่งยากและยากลำบากที่สุดคือการจัดหาสถานที่สำหรับการก่อสร้างคณะนิติศาสตร์โดยได้พยายามหาสถานที่ในบริเวณที่ใกล้กับที่ตั้งของคณะรัฐศาสตร์หลายแห่งและได้พิจารณาถึงสถานที่ด้านข้างของศาลาพระเกี้ยวด้วยแต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จจึงต้องข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งของถนนพญาไท ทางด้านสามย่าน บริเวณนี้ยังถือเสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าแผนกวิชาอิสระสื่อสารมวลชนมีอาจารย์บำรุงสุข  สีหอำไพ เป็นหัวหน้าแผนกวิชาและได้มีการเจรจากันหลายครั้งเรื่องขอใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8 ไร่แต่ส่วนที่เป็นคณะนิติศาสตร์ในปัจจุบันแผนกสื่อสารมวลชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เพราะเหตุว่ามีผู้อยู่อาศัยครอบครองอยู่แล้วและไม่สามารถที่จะดำเนินการรื้อถอนหรือขับไล่ได้เองจึงได้ยินยอมที่จะให้คณะนิติศาสตร์ได้เข้ามาใช้สอยและสร้างอาคารที่ทำการได้ โดยต้องดำเนินการเรื่องผู้อาศัยเอง

              เป็นโชคดีอีกประการหนึ่งของคณะนิติศาสตร์ เพราะก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ข้าพเจ้าได้รับการขอร้องให้เป็นผู้จัดการสำนักงานผลประโยชน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว จึงได้เชิญผู้อยู่อาศัยมาเจรจาขอร้องให้เห็นแก่ความเจริญก้าวหน้าในการขยายการศึกษาวิชานิติศาสตร์ให้มั่นคงต่อไปโดยการขอร้องให้ผู้อาศัยเหล่านั้นได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้วส่งมอบที่ดินคืนให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่บรรดาผู้อาศัยเหล่านั้นต่างให้ความร่วมมือด้วยดี เพราะเหตุว่าถ้าไม่ให้ความร่วมมือทางสำนักงานจัดการผลประโยชน์ ซึ่งข้าพเจ้าเองเป็นผู้จัดการจำเป็นจะต้องดำเนินการฟ้องร้องขับไล่ตามกฎหมายและเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งข้าพเจ้าได้หลีกเลี่ยงโดยอาศัยหลักเมตตาธรรมและสร้างความเข้าใจกับบรรดาผู้อยู่อาศัยจึงให้ความร่วมมือด้วยดี ซึ่งควรจะต้องจดจำเอาไว้ถึงความร่วมมืออันนี้

              เป็นอันว่าคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการแบ่งปันเนื้อที่สำหรับการก่อสร้างประมาณ 3 ไร่ครึ่ง บริเวณหัวมุมทางด้านสามย่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะนิติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

              ปัญหาการก่อสร้างอาคารยังไม่เสร็จสิ้นเพียงเท่านั้น เพราะได้ตั้งกรรมการประกวดราคาก่อสร้างอาคารนิติศาสตร์ขึ้น มีบรรดาผู้เข้าร่วมประกวดราคา 5 รายด้วยกัน ในวันเปิดซองประมูลประกวดราคา ปรากฏทั้ง 5 รายได้เสนอราคาเกินกว่างบประมาณในลักษณะที่ดูแล้วเป็นการเสนอราคาที่ค่อนข้างจะมีการรู้กันมาก่อนเป็นโชคดีของคณะนิติศาสตร์และเป็นโชคดีที่สามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ เพราะในคืนก่อนที่จะมีการเปิดซองประมูลประกวดราคา ได้มีผู้หวังดีได้ส่งหลักฐานและได้แจ้งสถานที่ที่บริษัทผู้เข้าประมูลได้เปิดประชุมทำความตกลงกันในเรื่องการเสนอราคาที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งแถวสี่แยกอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  เมื่อได้หลักฐานและข้อมูลมาเช่นนี้ในวันที่ข้าพเจ้าเป็นประธานเปิดซองประกวดราคา ได้สอบถามบรรดาผู้ยื่นซองทั้งหมดขอให้ยอมรับความจริงอย่างลูกผู้ชายว่าก่อนหน้าวันเปิดซองประกวดราคาได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในเวลากลางคืนใช่หรือไม่ เมื่อทุกคนได้ทราบว่าข้าพเจ้าได้ล่วงรู้เรื่องนี้ก็ไม่ปฏิเสธแต่ประการใด ข้าพเจ้าจึงให้ล้มเลิกการประกวดราคาและเปิดการประกวดราคาครั้งที่ 2 ขึ้น

              ในการเข้าประกวดราคาครั้งที่ 2 มีผู้เข้ายื่นซองประกวด 3 ราย รายที่เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงิน 2,850,000 บาทโดยประมาณ เหตุที่ผู้รับเหมาก่อสร้างแจ้งว่าได้เสนอราคาต่ำลงเช่นนี้เพราะข้าพเจ้ารับรองว่าจะดูแลการเบิกจ่ายเงินให้ได้รับความเป็นธรรมโดยไม่ต้องบวกค่าผลประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงมีความเชื่อมั่นในวิธีปฏิบัติของข้าพเจ้า ซึ่งขอขอบคุณสถาปนิก วิศวกร และเจ้าหน้าที่กองคลังของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นซึ่งได้กรุณาดำเนินการให้เป็นไปตามแนวที่ข้าพเจ้าได้วางไว้ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่คณะนิติศาสตร์ได้สร้างอาคารเรียนรวมทั้งวัสดุคุรุภัณฑ์โดยใช้เงินเพียง 2,850,000 บาทโดยประมาณในเวลานั้น แต่น่าเสียดายที่อาคารหลังนี้ได้ถูกรื้อไปแล้ว เหลือแต่ความหลังว่าเป็นอาคารที่ได้สร้างนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงขึ้นมารับใช้ประเทศชาติเป็นจำนวนมาก

               จนกระทั่งต่อมาในสมัยที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ศาสตราจารย์ธานินท์ ไกรวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีอาจารย์วิมลศิริ  ชำนาญเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย  ทั้ง 2 ท่านโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ในคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลาช้านาน ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการที่จะสร้างอาคารหลังที่ 2 ขึ้น โดยมีอาจารย์วิมลศิริ  ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นผู้สนับสนุนอย่างสำคัญ อาคารหลังที่สองจึงเกิดขึ้นโดยใช้เงินงบประมาณ ประมาณ 8,500,000 บาท โดยอาคารหลังที่สอง ข้าพเจ้าได้กำหนดให้มีห้องประชุมอเนกประสงค์ในรูปของโรงละครที่สามารถใช้เป็นที่ประชุม เป็นที่บรรยาย จัดการแสดงต่างๆจุคนประมาณ 300 คนและได้จัดการสร้างห้องสมุดถาวรขึ้นเป็นครั้งแรกของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นิติ 3

อาคารพินิตประชานาถ(ขวา)ซึ่งเป็นอาคารเรียนรวมนิติศาสตร์-นิเทศศาสตร์

และอาคารเทพทวาราวดี(ซ้าย) ที่ทำการคณะนิติศาสตร์ ปี 2547

              ปัญหาต่อไปก็คือการสร้างอาจารย์ประจำขึ้นในคณะนิติศาสตร์ เรื่องนี้เป็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของข้าพเจ้าที่เห็นว่าคณะนิติศาสตร์จะสมบูรณ์แบบสามารถให้การศึกษาแก่นิสิตได้ รวมทั้งสามารถที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้นิสิตอย่างใกล้ชิด ตลอดไปจนถึงการจัดสร้างตำราเรียนจะต้องสร้างอาจารย์ประจำขึ้นมาให้ได้

              คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้นจึงเกือบไม่มีอาจารย์ประจำเลย มีแต่อาจารย์พิเศษ ก็คือได้จ้างอาจารย์ประจำชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการมาแล้วเช่น จากศาล หรือกฤษฎีกา หรือกระทรวงการต่างประเทศ มาทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษ ซึ่งข้าพเจ้ามีความเชื่อว่าแต่ละท่านไม่ได้หวังจะหารายได้ แต่เป็นเพราะท่านต้องการที่จะช่วยเหลือและเผยแพร่วิทยาการของท่านและอาจารย์ผู้ที่อุทิศตนให้แก่คณะนิติศาสตร์ เช่น ศาสตราจารย์ ดร.จี๊ด เศรษฐบุตร ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัยและศาสตราจารย์จิตติ  ติงศภัทย์

             ข้าพเจ้าได้วางหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก โดยข้าพเจ้าได้พิจารณานิสิตในคณะนิติศาสตร์ที่มีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้คือ มีการเรียนดีได้รับปริญญานิติศาสตร์เกียรตินิยมและในขณะเป็นนิสิตได้ผ่านการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมแก่คณะและแก่มหาวิทยาลัยจะได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับต้นและก็ได้ดำเนินตามแนวทางนี้จนกระทั่งได้สร้างอาจารย์ประจำขึ้นได้จำนวนหนึ่ง

นิติ 6

             นอกจากนั้นข้าพเจ้าตระหนักดีว่าการที่ข้าพเจ้าไปชักชวนบรรดานิสิตหัวกะทิทั้งหลายเข้ามาเป็นอาจารย์ทั้งๆที่บุคคลเหล่านี้มีโอกาสที่จะสอบแข่งขันเข้าเป็นผู้พิพากษาอัยการ มีความก้าวหน้าเบื้องต้นสูงกว่าการมาเป็นอาจารย์ แต่ก็เป็นโชคดีที่ในระยะเวลานั้นมีบรรดานิสิตที่เรียนดีได้เกียรตินิยมและมีกิจกรรมดี เมื่อชักชวนเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ยังเป็นนิสิตในการที่รู้เห็นในการช่วยงานด้านการพิมพ์ ในด้านการติดต่อบางประการในระหว่างที่เป็นนิสิต เมื่อจบการศึกษามีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ก็รับคำเชิญชวนเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำในคณะนิติศาสตร์ เช่น อาจารย์ประสิทธิ์ฯ อาจารย์จุฑาฯ อาจารย์กาญจนาฯ ซึ่งท่านนี้ต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ หรืออาจารย์ไชยยศฯ ซึ่งข้าพเจ้าเคยรับเข้าเป็นนิติกรในสำนักงานจัดการผลประโยชน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อข้าพเจ้าได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสำนักงานผลประโยชน์ต่อมาอาจารย์ไชยยศฯ ได้สมัครเข้าเป็นอาจารย์ข้าพเจ้าจึงได้รับโอนเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำในคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งต่อมาได้ทำปริญญาโทในคณะนิติศาสตร์จบเป็นคนแรก โดยข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และต่อมาได้สนับสนุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ(สหรัฐอเมริกา)ร่วมกับอาจารย์อีกหลายๆท่านตามโครงการสร้างอาจารย์ปริญญาโทในต่างประเทศ และในที่สุดอาจารย์ไชยยศฯได้ประสบความสำเร็จในการที่เป็นราชบัณฑิตทางด้านนิติศาสตร์อยู่ในปัจจุบัน และเป็นผู้ที่ทำชื่อเสียงให้แก่คณะนิติศาสตร์อีกคนหนึ่ง และนี่คือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์  ส่วนนิสิตที่มีผลการเรียนดีแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่วางไว้ได้หาทางออกว่าถ้าไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ก็สามารถไปทำงานเป็นทนายความที่สำนักกฎหมายหาความรู้และประสบการณ์ทางการเป็นทนายได้ และสามารถมาเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อเผยแพร่ถ่ายทอดความรู้ทางกฎหมายให้แก่นิสิตต่อไปได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในกฎเกณฑ์และได้รับคำแนะนำได้ดำเนินการตามคำแนะนำสองรายและรายหนึ่งได้ประสบความสำเร็จและหลังจากเป็นทนายความอยู่เป็นเวลานานจนมีประสบการณ์สูงก็ได้ขอออกไปทำงานยังหน่วยงานภายนอกคือการทางพิเศษโดยได้เริ่มงานในตำแหน่งระดับสูงทางด้านกฎหมายจนกระทั่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นนักกฎหมายคนแรกที่ได้เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

นิติ 8

            วิธีการที่จะสร้างอาจารย์ให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นหลักประกันในการที่สมัครใจเป็นอาจารย์ต่อไป ก็คือการส่งเสริมให้ไปเรียนกฎหมายต่อในต่างประเทศ บังเอิญในระยะนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโครงการที่จะให้ทุนปริญญาเอกแก่บรรดาอาจารย์ในคณะต่างๆให้ไปทำการศึกษาในระดับปริญญาเอกปีละ 1 ทุนเป็นเวลาติดต่อกัน ซึ่งอาจารย์ในคณะต่างๆค่อนข้างจะไม่มีปัญหาและมีความเป็นไปได้ในการที่จะไปศึกษาในชั้นปริญญาเอก แต่สำหรับอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์แล้วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการศึกษาในชั้นปริญญาเอกไม่สามารถจะกระทำได้ในทันที จะต้องสมัครเข้าศึกษาในชั้นปริญญาโทก่อน นอกจากสมัครเข้าไปรับการศึกษาในชั้นปริญญาโทแล้ว การทดสอบภาษายังเป็นเรื่องสำคัญยิ่งและเป็นที่ยอมรับว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์มีความรู้ภาษาต่างประเทศค่อนข้างอ่อน เมื่อมีการทดสอบภาษาก็ไม่สามารถจะผ่านการทดสอบได้

            เพราะฉะนั้นจึงได้ทำข้อเสนอไปยังมหาวิทยาลัยโดยจัดทำโครงการ 5 ปี ขอรับทุนการศึกษาในชั้นปริญญาเอก 5 ทุน และให้กระจายทุน 5 ทุนนี้ออกมาให้แก่อาจารย์คณะนิติศาสตร์จำนวน 20 ทุน เพื่อไปศึกษาในชั้นปริญญาโทตามโครงการในเวลา 5 ปีเพื่อกลับมาเป็นกำลังสำคัญของคณะ

           โครงการ 5 ปีที่จะสร้างอาจารย์ปริญญาโทแทนอาจารย์ปริญญาเอกตามนโยบายของมหาวิทยาลัยได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากบรรดาคณบดีคณะอื่นๆซึ่งโดยทั่วไปไม่เห็นด้วยและเห็นว่าถ้าไม่สามารถทำตามนโยบายของมหาวิทยาลัยคือศึกษาในชั้นปริญญาเอกได้ก็ไม่ควรจะไป และไม่เห็นด้วยในการที่จะแตกทุนปริญญาเอกออกมาเป็นทุนปริญญาโท ซึ่งข้าพเจ้าให้ให้ความเห็นว่าการสร้างอาจารย์ประจำในคณะนิติศาสตร์มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการสร้างอาจารย์ประจำในคณะวิชาทั่วไป เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ รวมทั้งคณะอื่นๆ เพราะเหตุว่า ไม่มีสถาบันหรือหน่วยราชการอื่นรับผู้จบปริญญาตรีเช่นกันให้มีความก้าวหน้าในชั้นสูงกว่ากัน ไม่เหมือนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ซึ่งอาจารย์เหล่านี้จะสามารถที่จะไปสอบแข่งขันเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นอัยการ โดยรับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่ามากมาย และถ้าไม่ส่งเสริมในลักษณะที่ข้าพเจ้าเสนอนี้จะมีใครสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำหรือเป็นอาจารย์ประจำอยู่เพียงพักหนึ่งก็จะไปสอบแข่งขันเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการหมดหลังจากที่ได้มีการอธิบายเหตุผลและความจำเป็นแล้วมหาวิทยาลัยได้อนุมัติรับโครงการที่ข้าพเจ้าเสนอในการผลิตอาจารย์ปริญญาโทคณะนิติศาสตร์จำนวน 20 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี

            ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์โดยทั่วไปมีความรู้ความสามารถทางวิชากฎหมายสูงแต่วิชาภาษาอังกฤษยังมีความด้อยกว่ามาตรฐานทั่วไปจึงต้องดำเนินการให้มีโอกาสได้สมัครเข้าศึกษารกฎหมายในต่างประเทศโดยเฉพาะที่อเมริกาอย่างเป็นทางการ จึงต้องยอมเสี่ยงในการที่จะส่งอาจารย์เหล่านี้ไปศึกษาวิชากฎหมายเบื้องต้นควบคู่กับการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นการง่ายขึ้นที่จะผ่านการทดสอบวิชาภาษาอังกฤษเพื่อเข้าศึกษาวิชากฎหมายอย่างเต็มตัว ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างหนักอีกเช่นเคยว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปในการที่จะดำเนินการในลักษณะนี้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ขอยืนยันว่าถ้าไม่ใช้วิธีการนี้จะเป็นการยากในการที่จะส่งอาจารย์เหล่านี้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ตามที่ได้ดำเนินการขอรับปริญญาโทในโครงการ 5 ปีนี้ไว้ แต่ในที่สุดเมื่อได้ทราบถึงความจำเป็นต่างๆ ตามที่ข้าพเจ้าได้เพียรพยายามอธิบายแล้ว มหาวิทยาลัยจึงอนุมัติให้อาจารย์คณะนิติศาสตร์ได้ไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังทุกท่านได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญและมาเป็นประโยชน์แก่การศึกษาวิชานิติศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์เป็นอย่างมาก รวมทั้งที่ได้เป็นอาจารย์อยู่แล้วก็ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติในด้านอื่นๆด้วย

             ความภาคภูมิใจในชีวิตการเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีหลายประการ ที่สำคัญคือ นิสิตเก่าจำนวนมากมีความสำเร็จระดับสูงมีตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบอย่างสูงต่อบ้านเมือง นอกจากนั้นยังได้มีโอกาสชักชวนบรรดาศิษย์ที่มีชื่อเสียงจำนวน 35 คนมาร่วมกันจัดทำ “สารานุกรมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เมื่อ พ.ศ.2534 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นกรรมการและเลขานุการ

           ในงานวิชาการอื่นๆ ได้แก่การที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมติของคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ได้แต่งตั้งให้เป็น ประธานกรรมการพิจารณาผลงานของอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ตั้งแต่ พ.ศ.2521 โดยคณะกรรมการประกอบด้วย อดีตประธานศาลฎีกา อดีตอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุด อดีตเลขานุการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆซึ่งกรรมการหลายๆท่านได้ผลัดเปลี่ยนเข้ามาหลายคนแล้วเพราะเหตุถึงแก่กรรม

           ความภาคภูมิใจประการสุดท้ายได้แก่ การที่คณบดีทุกคนได้นำคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของคณะมาอวยพรปีใหม่ทุกปีไม่เคยขาดตอนตั้งแต่ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นปีที่ได้ลาออกจากคณบดีและการเป็นข้าราชการ จนถึงปัจจุบัน แสดงถึงความกตัญญูของคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมสูง

capture-20141213-104745_Fotor

 

Hackคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย